
ปวดประจำเดือน
ปวดประจำเดือน หมายถึง อาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ซึ่งมักจะเป็นประจำอยู่ทุกเดือน ส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ ส่วนน้อยที่อาการรุนแรงจนต้องพักงาน ในรายที่ปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน หรือเริ่มปวดครั้งแรกหลังอายุ 35 ปี ก็อาจมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
การปวดประจำเดือนเป็นภาวะปกติที่พบบ่อยในผู้หญิงทั่วไป จะกสถิติพบว่าในช่วงชีวิตของผู้หญิงแต่ละคนจะมีประสบการณ์การปวดประจำเดือนมากกว่า 50% และพบว่า 10% มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงบั่นทอนสุขภาพจิตของผู้หญิงอีกด้วย
ปวดประจำเดือนคืออะไร
ปวดประจำเดือน คือ อาการปวดบีบเป็นพัก ๆ บริเวณท้องน้อย อาจร้าวไปถึงบริเวณหลัง บริเวณก้น หรือบริเวณต้นขาซึ่งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หน้ามืด เป็นลมร่วมด้วยได้ อาการปวดประจำเดือนที่ไม่อันตรายและหายเองได้ คือต้องไม่รบกวนชีวิตประจำวัน หรือการงานการเรียนยังคงไปไหนมาไหนได้
ทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ ไม่ต้องลางานหรือ พักผ่อนอยู่ที่บ้าน อย่างมากที่สุดก็ทานยาแก้ปวดประจำเดือนอาการปวดท้องควรจะต้องดีขึ้น ทุเลาหรือหายได้
ชื่อภาษาไทย : ปวดประจำเดือน
ชื่อภาษาอังกฤษ : Dysmenorrhea
ปวดประจำเดือนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea) จะพบในเด็กสาว ส่วนมากจะมีอาการตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่ก็เกิดขึ้นภายใน 3 ปี หลังมีประจำเดือนครั้งแรก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงอายุ 15-25 ปี หลังจากวัยนี้อาการจะค่อย ๆ ลดลงบางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีบุตรแล้ว ส่วนน้อยที่ยังมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยจะไม่พบว่ามีความผิดปกติของมดลูกและรังไข่แต่อย่างใด ปัจจุบันเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (prostaglandins) ออกมามากผิดปกติซึ่งกระตุ้นให้มดลูกมีการบิดเกร็งตัว เกิดอาการปวดประจำเดือน
- ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) มักจะมีอาการปวดครั้งแรก เมื่ออายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป โดยก่อนหน้านี้จะไม่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เช่น เยื่อบุมดลูกต่างที่ (endometriosis) ซึ่งมักทำให้มีบุตรยาก เนื้องอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรังมดลูกย้อยไปทางด้านหลังมาก
เชื่อว่าอารมณ์มีส่วนเสริมความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนทั้ง 2 ชนิด เช่น พบว่าผู้มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย หรือมีความเครียดจะมีอาการปวดรุนแรงมากกว่าผู้ที่มีอารมณ์ดี อาการจะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง 2-3 วันแรกของประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ ที่บริเวณท้องน้อย บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ใจคอ หงุดหงิดร่วมด้วยถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือ เท้าเย็นได้
ทำไมถึงมีอาการปวดประจำเดือน
สาเหตุของการปวดประจำเดือนสามารถแบ่งได้ดังนี้คือ
- ความไม่สมดุลของสารกลุ่มพรอสตาแกลนดินในร่างกาย พบได้ในผู้หญิงประมาณ 70-80% ที่มีอาการปวดประจำเดือนความไม่สมดุลดังกล่าว ทำให้เกิดความผิดปกติในการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกและมีผลต่อเส้นเลือด ที่มาเลี้ยงมดลูก หรืออาจเกิดจากภาวะเส้นประสาทไวต่อสารในกลุ่มพรอสตาแกลนดินมากผิดปกติ อาการจะเป็นมากในช่วง 2 วันแรกของการมีประจำเดือน มักพบบ่อยในผู้ที่ยังไม่มีบุตรอาการจะดีขึ้นเมื่อผ่านการคลอดบุตรตาม ธรรมชาติหรือเมื่ออายุมากขึ้น
- ความผิดปกติหรือโรคในระบบเจริญพันธุ์ ถือเป็นประเภทที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของ อาการปวด ซึ่งมีสาเหตุหลายประการได้แก่
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ ช็อกโกเลตซีสต์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ผังผืดในช่องท้อง
- เนื้องอกมดลูกภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเข้าไปเจริญภายใน
- ความผิดปกติแต่กำเนิดของช่องทางคลอด หรือปากมดลูก หรือภาวะการติดเชื้ออักเสบในอุ้งเชิงกราน
การแยกโรค
ผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อย อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่บังเอิญมาเกิดอาการช่วงมีประจำเดือนก็ได้ เช่น
ไส้ติ่งอักเสบ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา ติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เดินกระเทือนถูกหรือกดถูกบริเวณนั้นจะมีอาการเจ็บปวด (ซึ่งอาการนี้ จะไม่พบในอาการปวดประจำเดือน)
ปีกมดลูกอักเสบ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและกดเจ็บตรงบริเวณท้องน้อย ร่วมกับมีอาการไข้สูง อาจมีอาการตกขาวร่วมด้วย (อาการปวดประจำเดือน จะไม่มีไข้)
นิ่วท่อไต
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดเกร็งตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง และมักมีอาการปวดร้าวลงมาที่ช่องคลอดข้างเดียวกัน (ไม่มีไข้ และกดถูกไม่เจ็บแบบเดียวกับอาการปวดประจำเดือน)
ผู้ที่เคยมีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน หากมีอาการปวดท้องน้อยที่มีลักษณะที่ไม่เหมือนที่เคยเป็น เช่น ปวดรุนแรงหรือติดต่อกันนานกว่าปกติ กดถูกหรือกระเทือนถูกรู้สึกเจ็บ มีไข้ขึ้นหรือมีอาการตกขาวร่วมด้วย ก็ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือน ซึ่งเป็นอยู่ประจำทุกเดือน โดยไม่มีไข้ กดถูกไม่เจ็บ ในกรณีที่สงสัยว่า เป็นปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนต์ ใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง เป็นต้น
การดูแลตนเอง
- นอนพักใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ
- กินยาแก้ปวด-พาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) ครั้งละ 1 เม็ด ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง
- ควรปรึกษาแพทย์ ถ้าปวดรุนแรง หรือกินยาแก้ปวดไม่ทุเลา หรือกดถูกเจ็บ มีไข้ ตกขาว มีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ หรือหลังแต่งงานแล้วยังมีอาการปวดประจำเดือนและมีบุตรยาก หรือสงสัยว่าเกิดจากสาเหตุอื่น
การรักษา
กรณีที่เป็นปวดประจำเดือนปฐมภูมิ
แพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด ถ้ามีอาการปวดบิดเกร็งมาก แพทย์อาจให้ยาต้านการบิดเกร็ง (แอนติสปาสโมติก) เช่น ไฮออสซีน (hyoscine)
รายที่ปวดประจำเดือนรุนแรงเป็นประจำ หากตรวจแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติ (ไม่ใช่ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ) แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดคุมกำเนิด (กินแบบเดียวกับการใช้คุมกำเนิด คือวันละ 1 เม็ดทุกคืน เพื่อไม่ให้มีการตกไข่ จะช่วยไม่ให้ปวดได้ระยะหนึ่ง อาจให้ติดต่อกันนาน 3-4 เดือน แล้วลองหยุดยา ถ้าหากมีอาการกำเริบใหม่ ก็ควรให้กินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง จนกว่าเมื่อหยุดยาแล้ว อาการปวดประจำเดือนทุเลาไป
ในรายที่ตรวจพบมีสาเหตุผิดปกติ
เป็นปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ แพทย์ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก
ส่วนในรายที่เกิดจากเยื่อบุมดลูกต่างที่อาจทำให้มีบุตรยาก หรือในรายที่เกิดจากเนื้องอกมดลูกอาจทำให้ตกเลือดมากจนเกิดภาวะซีด หรือก้อนโตมากอาจกดทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้
การดำเนินโรค
- ในรายที่เป็นปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ มักจะทุเลาเมื่ออายุมากกว่า 25 ปี หรือหลังแต่งงานหรือมีบุตรแล้ว
- ในรายที่เป็นปวดประจำเดือนทุติยภูมิ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการปวดมักจะเป็นรุนแรงขึ้นทุกเดือน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ถ้าได้รับการรักษาอาการปวดประจำเดือนก็จะหายไปได้
ความชุก
พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้หญิงวัยเจริญพัน
ปวดประจำเดือนที่ผิดปกติ
สัญญาณเตือน จำเป็นต้องครวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
- ปวดท้องหลายวันก่อนมีประจำเดือน ความปวดมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือนและอาจปวดมากต่อเนื่องไปหลังจากประจำเดือนหมด
- ปวดมากจนใผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น ต้องหยุดเรียนหนังสือ หยุดงานหรือไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้
- หวดมากขึ้นกว่าเดิม ทานยาแก้ปวดก็ไม่ดีขึ้น ต้องเพิ่มยามากขึ้นหรือต้องเปลี่ยนเป็นยาที่แรงขึ้น เพื่อระงับปวด
- ปวดเวลาถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ ขณะมีประจำเดือน
- ปวดเวลามีเพศสัมพันธ์
- ถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะเป็นเลือด เมื่อมีประจำเดือน
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- มีภาวะมีบุตรยาก
การปวดประจำเดือนในแต่ละช่วงอายุ
การปวดประจำเดือนในวัยรุ่น
เป็นอาการที่พบได้บ่อย ไม่ควรตกใจหรือวิตกกังวล ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีประสบการณ์นี้ในวัยเริ่มสาวหรือ ในช่วงวัยรุ่นหากได้ถ่ายทอดประสบการณ์นี้ให้กับวัยรุ่น หรือให้กำลังใจช่วยอธิบายให้เข้าในก็จะช่วยได้มาก
การปวดประจำเดือนช่วงอายุ 18-40 ปี
การปวดประจำเดือนทั่วไปต้องทุเลาได้ด้วยยาแก้ปวดธรรมดาแต่ถ้าไม่ทุเลาก็ควร ปรึกษาแพทย์ เพราะวัยนี้เป็นวัยเจริญพันธุ์มีหลายโรคซึ่งสามารถค้นหาสาเหตุและรักษาได้ ไม่ควรทนทุกข์ทรมาน หรือทนปวดไปตลาดทุกเดือน เพราะปัจจุบันทราบกันดีว่าปวดประจำเดือนต้องไม่ใช่ปวดจนกระทั่งทำงานหรือ เรียนหนังสือไม่ได้
การปวดประจำเดือน ช่วงหลังอายุ 40 ปี
หากไม่เคยมีอาการปวดมาก่อน และมีอาการปวดหลังอายุ 40 ปี ควรจะให้แพทย์ตรวจ เพราะโดยทั่วไปไม่น่าจะมี ยิ่งถ้ามีอาการหวดมากๆหรือรุนแรง แสดงว่าอาจมีสาเหตุผิดปกติ ซึ่งต้องการดูแลการรักษาไม่ควรทนรอเพื่อให้ถึง วัยหมดประจำเดือนเพราะมีบางโรครักษาได้ตั้งแต่เมื่อตรวจพบ
การปวดประจำเดือนกับการมีบุตร
การตั้งครรภ์หรือมีบุตรที่คลอดธรรมชาติ จะทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลงหรือหายไปเองได้ เนื่องจากปากมดลูกขยายมากขึ้น ประจำเดือนออกได้สะดวก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นสาเหตุของอาการปวดก็จะดีขึ้นในขณะตั้งครรภ์ หากสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ในทางกลับกันหากเป็นโรคค่อนข้างรุนแรงมีพังผืดกดรัดท่อนำไข่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากก็ควรได้รับการตรวจรักษาต่อไป
วิธีดูแลอาการปวดประจำเดือน
- อาการปวดประจำเดือนส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวดสามารถรับประทานได้ ก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือนโดยเฉพาะใน 1-2 วันแตกจะสามารถบรรเทาอาการลงได้
- การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นอีกทางหนึ่งที่ลดอาการปวดประจำเดือนลงได้ หากว่าอาการปวดไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป
การรักษาการปวดประจำเดือน
ในขั้นแรกแพทย์จะซักประวัติ และตรวจวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์หรืออัลตราซาวนด์ เพื่อค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นหากพบความผิดปกติจะทำการรักษาด้วยการให้ ยา หรือการผ่าตัดซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยการส่องให้ยา หรือการผ่าตัดซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องเริ่มมี บทบาทมากขึ้น เนื่องจากมีความแม่นยำในการผ่าตัดสูงเพราะมองจากกล้องจุลทรรศน์ และมีโอกาสเกิดพังผืดหลังผ่าตัดได้น้อยกว่า อีกทั้งผู้รับการผ่าตัดจะมีแผลน้อยและสามารถฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น