โทร  081 428 9569  |  02 716 9767

Top
โรคขัดเบา หรือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคขัดเบา (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)

โรคขัดเบาที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันนี้ ในทางการแพทย์มีชื่อเรียกว่า “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” เพราะมีการอักเสบจากการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งโดยปกติกระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เก็บน้ำปัสสาวะที่กรองมาจากไต เมื่อมีน้ำปัสสาวะไหลเข้ามาสะสมมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ จนถึงระดับหนึ่ง จะมีการส่งสัญญาณประสาทให้รู้สึกว่ากำลังปวดปัสสาวะ เมื่อเราถ่ายเบากำจัดน้ำปัสสาวะที่สะสมอยู่ในกระเพาะปัสสาวะทิ้งออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ เราก็หายปวดฉี่ ปลดทุกข์เบาเรียบร้อย การที่ร่างกายของเรามีการปัสสาวะเป็นครั้งเป็นคราว น้ำปัสสาวะที่หลั่งออกมาจะทำการล้างท่อปัสสาวะให้สะอาด ซึ่งเป็นประโยชน์อีกทางหนึ่งด้วย

ชื่อของโรคขัดเบา

คำว่า “ขัด” ในที่นี้หมายถึงการติดขัด มีอุปสรรค ไม่สะดวกสบาย ส่วนคำว่า “เบา” หมายถึง การถ่ายเบา หรือฉี่ หรือการถ่ายปัสสาวะนั่นเอง ดังนั้นเมื่อนำทั้ง ๒ พยางค์มารวมกันเป็นคำว่า “ขัดเบา” จึงหมายถึง อาการปัสสาวะติดขัด มีอุปสรรค ไหลไม่สะดวกสบาย

ลักษณะของโรคขัดเบา

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่วนมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่อยู่ในลำไส้ของคนเราโดยเข้าไปทางท่อปัสสาวะ โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้น และ อยู่ใกล้ทวารหนักซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก เชื้อโรคจึงเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่าผู้ชาย ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ พบมากในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์(โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) หรือผู้หญิงที่ชอบอั้นปัสสาวะนาน ๆ อาจพบเป็นโรคแทรกของผู้ป่วยเบาหวาน นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือ พบภายหลังการสวนปัสสาวะ ผู้หญิงที่แต่งงานใหม่ หรือหลังร่วมเพศอาจมีอาการขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แพทย์เรียกว่า โรคฮันนีมูน (Honeymoon’s cystitis) สาเหตุเกิดจากการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสาวะ

ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยมากถ้าพบมักมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมลูกหมากโตหรือมีก้อนเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ หรือมีความผิดปกติทาง โครงสร้างของ ทางเดินปัสสาวะ

อาการของโรคขัดเบา

ปัสสาวะกะปริดกะปรอย (ออกทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง) รู้สึกปวดขัด หรือแสบร้อนเวลาถ่าย ปัสสาวะอาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น สีมักจะใส แต่บางคน อาจขุ่นหรือมีเลือดปนอาการอาจเกิดขึ้นหลังอั้นปัสสาวะนาน ๆ หรือหลังร่วมเพศ ในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน อาจมีไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียน ในบางรายอาจมีไข่ขาวออกมาในน้ำปัสสาวะ หรือมีไข้ตัวร้อนได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามขึ้นไปตามท่อไตทำให้เกิดการติดเชื้อที่กรวยไตได้

สาเหตุของโรคขัดเบา

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นในสภาวะปกติที่มีการรักษาสุขลักษณะที่ดี และมีการถ่ายปัสสาวะตามปกติ เชื้อโรคก็ไม่สามารถเดินทางไปขยายพันธุ์ และทำให้เกิดการติดเชื้อทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้ แต่ถ้าไม่ดูแลสุขลักษณะที่ดี ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่กระเพาะปัสสาวะได้ สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่ การกลั้นปัสสาวะนานเกินไป การมีเพศสัมพันธ์ การดูแลสุขลักษณะที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

การกลั้นปัสสาวะนานเกินไป
เมื่อปวดปัสสาวะแล้วไม่ยอมไปถ่ายเบาแต่กลั้นปัสสาวะเอาไว้ก่อน เช่น ในระหว่างการเดินทางไกล หาห้องน้ำลำบาก ห้องน้ำไม่สะอาด อยู่ในระหว่างปฏิบัติงาน หรือตอนกลางคืน เป็นต้น

การมีเพศสัมพันธ์
พบได้บ่อยในผู้ที่เพิ่งแต่งงาน จนบางครั้งเรียกโรคขัดเบานี้ว่า โรคน้ำผึ้งพระจันทร์ เพราะเกิดขึ้นกับเจ้าสาวหลังงานแต่งงานในระหว่างฮันนีมูน

การดูแลสุขลักษณะที่ไม่เหมาะสม
เช่น การทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระในทิศทางที่นำพาเชื้อโรคจากทวารหนักจากทางด้านหลังมาทางด้านหน้ามาหาช่องคลอดและรูเปิดของท่อปัสสาวะตามลำดับ ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคมาที่ท่อปัสสาวะ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย

อาการแทรกซ้อน

ถ้ามีอาการต่อไปนี้เป็นเรื่องอันตราย (ควรไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน)

  • ไข้สูงหนาวสั่น
  • ปวดท้องขึ้นมาถึงเอวและหลัง
  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปัสสาวะสะดุด
  • ปัสสาวะไม่ออกเป็นซ้ำ ๆ ซาก ๆ
  • รักษาแล้วไม่หายภายใน 1 วัน

ชนิดของโรคขัดเบา

แบ่งได้เป็น ๒ ชนิดใหญ่ตามอัตราการเป็นโรค คือ แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเฉียบพลัน เป็นการติดเชื้อครั้งแรก มีอาการหลัก คือ ขัดบ่อย และอั้นไม่อยู่ ซึ่งถ้าได้รับการรักษาที่ดี พร้อมทั้งดูแลสุขอนามัยที่ดี ก็อาจไม่มีอาการอีกเลย แต่ถ้าได้รับการดูแลไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้เป็นการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะชนิดเรื้อรังได้ ซึ่งชนิดหลังนี้มีขั้นตอนและระยะเวลาในการรักษาที่ยุ่งยาก ยาวนาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าชนิดแรกมาก

ข้อแนะนำ

  1. กระเพาะปัสสาวะอักเสบพบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการขัดเบา แต่อย่างไรก็ตามยังมีโรคอีกหลายชนิดที่อาจมีอาการแสดงคล้ายโรคนี้ได้อีก ดังนั้นก่อนให้การรักษาโรคนี้ควรซักถามประวัติอาการอย่างถี่ถ้วน (ขัดเบา/ปัสสาวะบ่อย/ปัสสาวะมาก)
  2. ในเด็กเล็กที่มีอาการปัสสาวะรดที่นอนบ่อย หรือมีไข้และอาเจียนไม่ทราบสาเหตุ ควรนึกถึงโรคนี้ไว้เสมอการตรวจปัสสาวะจะช่วยวินิจฉัยโรคนี้ได้
  3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ควรดื่มน้ำมาก ๆ (ประมาณวันละ 3-4 ลิตร) เพื่อช่วยขับเชื้อโรคออกและช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาปัสสาวะ
  4. การป้องกันผู้ที่เคยเป็นโรคนี้ เมื่อรักษาหายแล้วควรป้องกันมิให้เป็นซ้ำโดย
    1. พยายามดื่มน้ำมาก ๆ และอย่าอั้นปัสสาวะควรฝึกถ่ายปัสสาวะในห้องน้ำนอกบ้าน หรือ ระหว่างเดินทางได้ทุกที่การอั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถเจริญแพร่พันธุ์ ประกอบกับในภาวะที่มีกระเพาะปัสสาวะยืดตัวความสามารถในการขจัดเชื้อโรคของเยื่อบุผิวกระเพาะปัสสาวะลดน้อยลง จึงทำให้เกิดอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะได้
    2. หลังถ่ายอุจจาระควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ
    3. สำหรับอาการขัดเบาหลังร่วมเพศ (โรคฮันนีมูน) อาจป้องกันได้โดยดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนร่วมเพศควรใส่ครีมหล่อลื่นช่องคลอด และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ

การรักษาโรคขัดเบา

  1. ขณะที่มีอาการ ให้ดื่มน้ำมากๆ ถ้าปวดมากให้ ยาแก้ปวด และให้ยาปฏิชีวนะเช่น โคไตรม็อกซาโซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง, อะม็อกซีซิลลิน 500 มก.ทุก 8 ชั่วโมง หรือ นอร์ฟล็อกซาซิน 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน
  2. ถ้าไม่ดีขึ้นหรือเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง หรือเป็นในผู้ชาย ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุโดยการตรวจปัสสาวะ (พบเม็ดเลือดขาวจำนวนมาก) นำปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อเอกซเรย์ หรือใช้กล้องส่องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ (cystoscope) แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

การดูแลโรคขัดเบา

การดูแลตนเองเกี่ยวกับเรื่องขัดเบา มี 3 ระยะ คือ ยังไม่เคยเป็น เมื่อเป็นครั้งแรก และเมื่อกลับมาเป็นใหม่

ในกรณีที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้
ควรป้องกันดูแลสุขอนามัยของการถ่ายหนัก ถ่ายเบาที่ดี ไม่กลั้นปัสสาวะนานเกินไป เมื่อถ่ายอุจจาระก็ควรทำความสะอาด โดยให้เป็นไปในทิศทางจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง ไม่ควรทำความสะอาดย้อนจากด้านหลังมาทางด้านหน้า เพราะอาจพาเชื้อโรคจากอุจจาระมาที่ช่องคลอดและท่อทางเดินปัสสาวะได้ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำบ่อยๆ และถ่ายปัสสาวะตามปกติ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ

ในกรณีที่เพิ่งเริ่มเป็นโรคขัดเบา
ควรปฏิบัติตัวที่ดีพร้อมทั้งใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น ยานอร์ฟล็อกซาซิน (norfloxacin) ขนาด ๔๐๐ มิลลิกรัม/เม็ด หรือโอฟล็อกซาซิน (ofloxacin) ขนาด ๒๐๐ มิลลิกรัม/เม็ด ครั้งละ ๑ เม็ด วันละ ๒ ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า เย็น และควร กินติดต่อกัน ๓-๕ วัน ถึงแม้ว่าจะหายดีแล้วก็ไม่ควรหยุดยา ควรกินติดต่อกันจนหมด

นอกจากยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้ว ในบางครั้งอาจใช้ยาช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง เช่น ยาพาราเซตามอล ยากรดมีเฟนามิก (mefenamic acid) ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือไฮออสซีน (hyoscine) เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องได้ แต่ควรใช้เมื่อมีอาการปวดท้องเท่านั้น ถ้าไม่มีอาการปวดท้องแล้ว ก็ควรหยุดยาเสียเพราะไม่เกิดประโยชน์ อันใดในการรักษา
ยาอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้กันแพร่หลายใน อดีต แต่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เช่น ยาไพรีเดียม (Pyridium) ยาเมไทลีนบลู (me-thylene blue) เป็นต้น

ยากลุ่มนี้จะมีฤทธิ์ในการเปลี่ยนสีของปัสสาวะ โดยยาไพรีเดียมจะเปลี่ยนสีของปัสสาวะให้เป็น สีแดง เมื่อผสมกับสีเหลืองของปัสสาวะ ก็จะเกิดเป็นสีส้มแดงเมื่อมีการใช้ยานี้

ส่วนยาเมไทลีนบลูจะเป็นส่วนประกอบชนิด หนึ่งในตำรับยาเม็ดรักษาโรคไตที่มีจำหน่ายในร้านยา ยานี้จะเปลี่ยนสีของปัสสาวะไปเป็นสีน้ำเงิน เมื่อผสมกับสีเหลืองของปัสสาวะ จะกลายเป็นสีเขียว ดังนั้นการที่สีของปัสสาวะเปลี่ยนสีไปเมื่อกินยาทั้งสองนั้น จากสีเหลืองจนสีชาน้ำตาลตามปกติ ไปเป็นสีส้มแดงหรือเขียวน้ำเงิน จึงเป็นเพราะ กินยาที่เป็นสีดังกล่าว โดยที่ยาทั้งสองนี้ไม่ได้ไปขับไล่เลือดเสียหรือเชื้อโรคออกจากร่างกายตามความเชื่อของบางคนที่สังเกตเห็นการเปลี่ยนสีของปัสสาวะ และยาทั้งสองนี้ก็ทำให้เกิดประโยชน์ในการรักษาโรคนี้น้อยมาก ในปัจจุบันจึงไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้ว

ในกรณีที่กลับมาเป็นใหม่
ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคขัดเบาบ่อยๆ เรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาทั้งสองชนิดข้างต้น ควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในการรักษาโรคนี้

การใช้ยา

เลือกใช้ขนานใดขนานหนึ่งเพียงขนานเดียวทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนโบราณ

ยาแผนปัจจุบัน

  • ขนานที่ 1 Norfloxacin (นอร์ฟล็อกซาซิน) 400 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร ติดต่อกัน 3-5 วัน
  • ขนานที่ 2 Ofloxzcin (โอฟล็อกซาซิน) 200 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร ติดต่อกัน 3-5 วัน
  • ขนานที่ 3 Amoxycillin (อม็อกซี่ซิลลิน) 500 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ติดต่อกัน 3-5 วัน
  • ขนานที่ 4 Co-trimoxazole (โค-ไตรม็อกซาโซล) 480 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร ติดต่อกัน 3-5 วัน

ยาแผนโบราณ

  • ขนานที่ 1 ใช้ตะไคร้สดทั้ง ราก ต้น และใบ 5 ต้น มัดเข้าด้วยกันทุบพอแตก, รากหญ้าขัดมอน 1 กำมือ, หญ้าแพรก 1 กำมือโตๆ, เหง้าขมิ้นชันสด 1 หัว นำยาทั้งหมดต้มให้เดือด 10 นาที เอาน้ำยาดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ วันละ 3ครั้ง
  • ขนานที่ 2 ใช้ตะไคร้ทั้งห้า ต้มน้ำดื่มมาก ๆ
  • ขนานที่ 3 ใช้รากกล้วยน้ำว้า 1 กำมือ ล้างสะอาด ต้มน้ำดื่มบ่อย ๆ
  • ขนานที่ 4 ใช้เมล็ดแตงโมสดหรือแห้ง หนัก 4 บาท เติมน้ำ 2 ชามข้าวต้ม (600มิลลิลิตร) เคี่ยวให้เหลือครึ่งชาม (150 มิลลิลิตร) รับประทานครั้งเดียวให้หมด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น ติดต่อกัน3-7 วัน ยา 1 ห่อ ต้มรับประทานได้ 2 ครั้ง

การรักษาอื่น ๆ และการปฏิบัติตัว

การดูแลสุขภาพเน้นการดื่มน้ำมาก ๆ และทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศโดยระวังไม่ให้โดนทวารหนักก่อน เช่น

  • อย่ากลั้นปัสสาวะ
  • การชำระด้วยน้ำหรือใช้กระดาษชำระหลังขับถ่ายหรือขณะอาบน้ำต้องทำจากหน้าไปหลัง
  • ก่อนมีเพศสัมพันธ์ต้องถ่ายปัสสาวะ ระวังอย่าให้ท้องน้อยถูกกระทบกระแทกโดยเฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์
  • ใช้น้ำอุ่นจากฝักบัวพ่นรดบริเวณหัวเหน่าสัก 3 นาที สลับด้วยน้ำเย็น 1 นาที และทำแบบเดียวกันที่บริเวณกระดูกกระเบนเหน็บ ทำวันละ 3 รอบ หรือใช้การนั่งแช่น้ำอุ่นสลับกับน้ำเย็นแทนการใช้ฝักบัวก็ได้